วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554



โบราณสถานของวัดต้นกอก

กลุ่มโบราณสถานวัดต้นกอก ตั้งอยู่นอกเมืองเวียงท่ากานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 450 เมตร ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านกลาง หมู่ที่ 7 อำเภอสันป่าตอง มีถนนลาดยางสายที่ตัดผ่านกลางบ้านท่ากานและบ้านต้นกอกไปยังบ้านทุ่งเสี้ยว ตัดผ่านกลางวัด โดยมีบ้านต้นกอกตั้งอยู่ทางขวามือ ทางด้านนี้มีอุโบสถหลังใหม่ของวัดตั้งอยู่ทางด้านหลังเจดีย์ ห่างจากเจดีย์ประมาณ 30 กว่าเมตรลักษณะทั่วไป ของบ้านต้นกอกเป็นที่ราบชายเนินหรืออยู่ส่วนชายเมืองเวียงท่ากาน พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่ม มีลำเหมืองขนาดใหญ่ไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และทางเหนือของหมู่บ้านมีลำคลองชลประทานขุดผ่าน มีประชาชนประมาณ 145 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นพวกไทยเขิน ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันมา 2 ชั่วอายุคน ชาวบ้านมีอาชีพทำนา

เจดีย์  เมื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะของเจดีย์วัดต้นกอกออกเป็นส่วนๆ แล้ว จึงพอจะกำหนดอายุได้ว่า น่าจะสร้างขึ้นในสมัยของพระเมืองแก้วช่วงปลายหลัง พ.ศ. 2026 ลงมา พิจารณาจากฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ซึ่งเพิ่งจะมาสร้างหลัง  พ.ศ. 2060  และใช้ต่อมาเรื่อย ๆ แต่ลักษณะฐานเขียนกลม  ชั้นมาลัยเถา  และองค์ระฆัง  ยังมีอิทธิพลสุโขทัย  สมัยพระเจ้าติโลกราชอยู่มาก  คล้ายกับวัดพระธาตุลำปางหลวง  และวัดพระธาตุเสด็จ  จ.ลำปาง  แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับเจดีย์หมายเลข 2 สร้างในสมัยพระเกษเกล้าภายหลังเจดีย์วัดต้นกอก  ซึ่งมีลักษณะบางอย่างคล้ายกับเจดีย์วัดต้อนกอก  เช่นชั้นมาลัยเถา  ที่ได้ดัดแปลงให้เป็นรูปแปดเหลี่ยมในสมัยพระเกษเกล้า

สรุปแล้วก็คือว่า องค์เจดีย์วัดต้นกอกมีการก่อสร้างมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ เจดีย์องค์ในสุดถูกเจดีย์ทรงกลมห่อหุ้ม เท่าที่เห็นคือ ชั้นมาลัยเถาต่อมาถูกหุ้มด้วยเจดีย์ทรงกลมอีกชั้นหนึ่ง แล้วสร้างฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จแบบพม่าก่อหุ้มฐานและองค์เรือนธาตุอีกทีหนึ่ง

วิหาร  วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์  เป็นวิหารหลวงที่มีความสำคัญ  วิหารมีการย่อมุขด้านหน้า  3  ชั้น  แสดงว่ามีการลดชั้นของหลังคาลง  3  ระดับ  มีเสารองรับเครื่องบนหลังคา  บนวิหารมีแท่นบัวขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านหลัง 1 แท่น  คงจะเป็นแท่นสำหรับวางพระพุทธรูปบูชาและมีแท่น  ธรรมาสน์  ตั้งติดผนังวิหารด้านใต้  พื้นวิหารฉาบปูนตลอด

เมื่อวิเคราะห์ลักษณะทางสถาปัตยกรรมร่วมกับโบราณวัตถุแล้ว  จะเห็นได้ว่า  เศษภาชนะดินเผาที่พบบริเวณโบราณสถานวัดต้นกอกนั้นกำหนดอายุไปได้ถึงสมัยหริ ภุญไชย  ซึ่งเศษภาชนะดินเผาที่พบก็มีส่วนน้อยแต่โบราณวัตถุส่วนใหญ่รวมทั้งลักษณะทาง สถาปัตยกรรมอยู่ในช่วงสมัยล้านนา  ประมาณพุทธศตวรรษที่  21  ซึ่งเป็นไปได้ว่า  ในบริเวณสถานแห่งนี้มีกิจกรรมการอยู่อาศัยหรือกิจกรรมทางด้านศาสนามาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่  17-18  ลงมา  ก่อนที่จะมีการสร้างเจดีย์  วิหาร  และอาคารทางศาสนา  ในช่วงสมัยล้านนา  ประมาณพุทธศตวรรษที่  21  ลงมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่  22  ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในช่วงที่พม่าตีเมืองเชียงใหม่ได้  และเตรียมจะสร้างเจดีย์แบบพม่าครอบเจดีย์องค์เก่า  แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จ

จากหลักฐานทางด้านเอกสารและตำนานหลายฉบับ เช่น ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเวียงท่ากานเป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่สมัยหริภุญไชยลงมาจนถึงสมัยล้านนา อนึ่งหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโบราณวัตถุ เช่น พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปดินเผา พระพุทธรูปสำริดพระโพธิสัตว์ เป็นต้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบหริภุญไชย ซึ่งยังคงเหลือหลักฐานให้ศึกษาอยู่ไม่กี่แห่งรวมทั้งยังเหลือหลักฐานประเภท โบราณสถานและโบราณวัตถุในสมัยล้านนาให้ศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งในตัวเมือง และนอกตัวเมือง

1 ความคิดเห็น:

odyllpagac กล่าวว่า...

Best Casino Bonus Codes, Promo Codes & Free Spins | DRMCD
Best Casino Bonus 성남 출장마사지 Codes, Promo Codes & Free Spins ✓ Play the Best Online 고양 출장안마 Casino Games for Real 속초 출장안마 Money or Free Cash 과천 출장안마 ✓ Top Jackpot Games for Mobile 전라북도 출장안마 and Desktop.